กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงแบบเป็นวงกว้างและมากกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
วิกฤตค่าครองชีพ ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการแพร่ระบาดแบบต่อเนื่องของโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ถ่วงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแบบชะลอตัวที่ 3.2% ในปี 2565 จากการขยายตัว 6.0% ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะชะลอตัวลงเพิ่มเติมสู่การขยายตัว 2.7% ในปี 2566
นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF กล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯในวันเสาร์ (19 พ.ย.) ว่า เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยสหรัฐ จีน และยุโรปเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยทั้ง 3 ถือเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น เช่นเดียวกับบางประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากเงื่อนไขการค้าที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ แต่โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลง โดยความเสี่ยงขาลงเข้าครอบงำ
รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF แสดงให้เห็นว่า ไทยและจีนเป็นเพียงสองประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยนั้นมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปีนี้ เป็น 3.7% ในปี 2566
นอกจากนี้ คาดการณ์อัตราว่างงานของไทยยังต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% ทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก อัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ 1.5% เป็นรองแค่คูเวตที่ 1.3%