.
“กรรม – พันธ์”
ถ้าดีเอ็นเอ คือตัวบันทึกข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดที่ถูกเก็บไว้ “จิต” ก็คือตัวบันทึกข้อมูลทางวิบากกรรม ต่างกันก็ตรงที่ ดีเอ็นเอ ส่งผลทางด้านกายภาพ เช่น รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ โรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ แต่จิต จะส่งผลทางด้านนามธรรมความรู้สึก เช่น ใจร้อน ใจเย็น ใจน้อย ใจดี ใจร้าย ฯลฯ ฝาแฝดแท้มีปัจจัยทางกายภาพและดีเอ็นเอเหมือนกันทุกประการ แต่สิ่งที่ต่างกันคือวิบากกรรมในจิต
ผู้ปฏิบัติธรรมที่ฝึกเจริญสติสมาธิ จนไวและมีกำลังพอที่จะกำหนดความรู้สึก จนลงลึกเข้าไปถึงองค์ประกอบของจิต จะรู้สึกสนุกกับการค้นหารายละเอียดทางวิบากกรรมที่ซ่อนอยู่ในจิต ซึ่งมากกว่ากรรมพันธ์ในดีเอ็นเอเป็นล้านเท่า นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า การที่คนบางคนเกิดมามีผิวดำ ก็เพราะมีดีเอ็นเอที่เป็นองค์ประกอบทางพันธุกรรมทำหน้าที่นี้อยู่ เช่นเดียวกัน นักปฏิบัติธรรมที่บรรลุญาณ จะรู้ว่า การที่คนบางคนเกิดมาใจดำ ก็เพราะมีเจตสิกที่เป็นองค์ประกอบของวิบากกรรมทำหน้าที่อยู่เช่นกัน สิ่งที่ต่างคือผิวดำเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ใจดำสามารถเปลี่ยนได้ถ้ามีสติปัญญาสูงขึ้น
กรรมพันธ์ทำงานผ่านยีนและดีเอ็นเอ ส่วนวิบากกรรมทำงานผ่านจิตและเจตสิก ทั้งสองส่วนผสมรวมกันเป็นขันธ์ห้า ก่อกำเนิดเป็นสิ่งมีชีวิต วิบากกรรมแสดงออกในรูปของความรู้สึก เวทนา ตัณหา ทั้งกรรมพันธ์และวิบากกรรม ทำงานประสานกันอย่างกลมกลืน เมื่อบรรลุถึงขั้นโสดาบันจะรู้ว่า กรรมพันธ์เป็นของปลอม แต่วิบากกรรมเป็นของจริง และเมื่อบรรลุถึงนิพพานจะรู้ว่าเป็นของปลอมทั้งหมด เหมือนครั้งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ร่างกายเป็นของชั่วคราว แต่ธาตุต่างๆในร่างกายคือของจริง แต่ต่อมาไอน์สไตน์พบว่า แม้แต่ธาตุเหล่านั้น ก็ไม่มีอยู่จริง มันสามารถสลายตัวและให้เป็นพลังงานปรมาณูออกมาได้ และถ้าสามารถทำความเร็วเท่าแสง ทุกสิ่งในจักรวาลนี้จะหายไปทั้งหมดทันที
เมื่อเสียชีวิตจิตจะเลือกเกิดในภพภูมิหรือคุณภาพดีเอ็นเอตามลักษณะของจิต แม้ว่าการเกิดใหม่จะลืมเรื่องราวตัวตนในชาติภพก่อนหมดแล้ว แต่จิตเดิมในร่างใหม่ ก็ถือว่าเป็นการชดใช้กรรม ซึ่งการที่ต้องไปเกิดในระดับครอบครัวตามบุญกรรมที่ทำมา ถือว่ากฎแห่งกรรมทำงานสมบูรณ์แล้ว โดยที่ไม่ต้องให้เจ้าตัวต้องรับรู้อะไรอีก มิฉะนั้นจะเกิดความวุ่นวาย ถ้าทุกคนสามารถระลึกได้ว่า ชาติก่อนเคยเป็นอะไร กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องของเหตุและผล โดยไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงที่มาของเหตุ
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยีนที่เกี่ยวข้องกับเจตสิกต่างๆมีอยู่หลายตัว เช่น ยีนขยัน ยีนวิตกกังวล ยีนโลภ ยีนโกรธ ยีนหลง ฯลฯ และถ้ามีการศึกษาวิจัยต่อไปอาจพบว่า ในเจตสิกทั้ง 52 ตัวล้วนเกี่ยวข้องกับยีน แต่อย่างไรก็ตาม สวิทซ์พันธุกรรม คือตัวที่จะตัดสินว่ายีนนั้นทำงานได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับพลังแห่งกรรม ทำงานเหนี่ยวนำผ่านทางสวิทซ์พันธุกรรม
การค้นพบล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ สรุปว่า ยีนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตถึง 70% จากที่เคยเชื่อกันก่อนหน้านี้ว่า มาจากสิ่งแวดล้อม 50% ยีน 50%
ทันตแพทย์สม สุจีรา